เมนู

อรรถกถาปาฏลีปุตตเปตวัตถุที่ 11


เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร ทรง
ปรารภวิมานเปรตตนหนึ่ง จึงตรัสคาถานี้มีคำเริ่มต้นว่า ทิฏฺฐา
ตยา นิรยา ติรจฺฉานโยนิ ดังนี้
ได้ยินว่าพ่อค้าชาวกรุงสาวัตถีและชาวกรุงปาฏลีบุตรเป็น
อันมาก แล่นเรือไปยังสุวรรณภูมิ. บรรดาพ่อค้าเหล่านั้น พ่อค้า
คนหนึ่งเป็นอุบาสก เกิดป่วยไข้ มีจิตปฏิพัทธ์ในมาตุคาม ได้ทำ
กาละแล้ว. เขาแม้ได้ทำกุศลไว้ก็ไม่เข้าถึงเทวโลก เกิดเป็นวิมาน
เปรตในท่ามกลางมหาสมุทร เพราะเป็นมีจิตปฏิพัทธ์ในหญิง.
ก็หญิงที่เขามีจิตปฏิพัทธ์นั้น ขึ้นเรือไปยังสุวรรณภูมิ. ลำดับนั้น
เปรตนั้นประสงค์จะจับหญิงนั้น จึงปิดกั้นไม่ให้เรือไป. ลำดับนั้น
พ่อค้าทั้งหลายพิจารณากันว่า เพราะเหตุอะไรหนอ เรือนี้จึงไม่
แล่น จึงให้จับสลากคนกาฬกิณี สลากได้ถึงหญิงนั้นนั่นแหละ
ถึง 3 ครั้ง โดยความสำเร็จของอมนุษย์. พวกพ่อค้าเห็นหญิงที่
เขามีจิตปฏิพัทธ์นั้น จึงให้หย่อนแพไม้ไผ่ลงในสมุทร ให้หญิงนั้น
ลงไปอยู่บนแพไม้ไผ่นั้น. พอหญิงนั้นลงไป เรือก็แล่นบ่ายหน้าไป
ยังสุวรรณภูมิโดยเร็ว. อมนุษย์ยกหญิงนั้นขึ้นยังวิมานของตน
อภิรมย์กับหญิงนั้น.
ครั้นล่วงไป 1 ปี หญิงนั้นเกิดเบื่อหน่าย เมื่อจะขอร้องเปรต
นั้น จึงกล่าวว่า ดิฉันอยู่ในที่นี้ก็ไม่ได้เพื่อสร้างประโยชน์ใน

สัมปรายภพ ดีละท่านผู้นิรทุกข์ ขอท่านจงนำข้าพเจ้าไปเมือง
ปาฏลีบุตร. เปรตนั้นถูกหญิงนั้นอ้อนวอน จึงกล่าวคาถา :-
สัตว์นรกบางพวกท่านก็เห็นแล้ว สัตว์
เดียรัจฉาน เปรต อสุรกาย มนุษย์ หรือเทวดา
บางพวก ท่านก็เห็นแล้ว ผลกรรมของตนท่าน
เป็นประจักษ์ด้วยตนเองแล้ว เราจะนำท่านไป
ส่งยังเมืองปาฏลีบุตร ท่านไปถึงเมืองปาฏลีบุตร
แล้ว จงทำกุศลธรรมให้มากเถิด.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทิฏฺฐา ตยา นิรยา ได้แก่ แม้เฉพาะ
สัตว์นรกบางพวก ท่านก็เห็นแล้ว. บทว่า ติรจฺฉานโยนิ มีวาจา
ประกอบความว่า แม้สัตว์ดิรัจฉานมี นาคและครุฑเป็นต้น ผู้มี
หิวกระหายเป็นต้น. บทว่า อสุรา ได้แก่ อสูร ชนิดกาลกัญชิกาสูร
เป็นต้น. บทว่า เทวา ได้แก่ เทพชั้นจาตุมมหาราชบางพวก. ได้
ยินว่าเปรตนั้น พาหญิงนั้น เที่ยวแสดงปัจเจกนรกเป็นต้น ใน
ระหว่าง ๆ ด้วยอานุภาพของตน ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวอย่างนี้.
บทว่า สยมทฺทส กมฺมวิปากมตฺตโน ความว่า หญิงนั้น ไปเห็น
สัตว์นรกเป็นต้นโดยพิเศษ ก็ได้เห็นประจักษ์ซึ่งวิบากกรรมที่ตน
ทำไว้ ด้วยตนเอง. บทว่า เนสฺสามิ ตํ ปาฏลิปุตฺตมกฺขตํ ความว่า
บัดนี้ เราจักนำท่านอันใครป้องกันไม่ได้ ไปยังเมืองปาฏลีบุตร
โดยร่างของมนุษย์นั่นแล. แต่ท่านครั้นไปถึงเมืองปาฏลีบุตรแล้ว

จงทำกุศลกรรมให้มาก อธิบายว่า เจ้าจงเป็นผู้ประกอบขวนขวาย
ยินดีในบุญ เพราะเจ้าเห็นวิบากของกรรมโดยประจักษ์แล้ว.
ลำดับนั้น หญิงนั้น ครั้นได้ฟังคำของเปรตนั้นแล้ว มีความ
ดีใจ กล่าวคาถาว่า :-
ข้าแต่เทพเจ้า ผู้อันบุคคลพึงบูชา ท่าน
ปรารถนาความเจริญแก่ดิฉัน ปรารถนาประโยชน์
เกื้อกูลแก่ดิฉัน ดิฉันจักทำตามคำของท่าน ท่าน
เป็นอาจารย์ของดิฉัน สัตว์นรกบางพวก ดิฉันก็
เห็นแล้ว สัตว์ดิรัจฉาน เปรต อสูร มนุษย์ หรือ
เทพดาบางพวก ดิฉันก็เห็นแล้ว ผลกรรมของตน
ดิฉันก็ได้เห็นด้วยตนเองแล้ว ดิฉันจักทำบุญไว้
ให้มาก.

ลำดับนั้น เปรตนั้น จึงพาหญิงนั้นไปทางอากาศ พักไว้ใน
ท่ามกลางเมืองปาฏลีบุตร แล้วก็หลีกไป. ลำดับญาติและมิตรเป็นต้น
ของหญิงนั้น เห็นเปรตนั้นแล้ว ดีใจยิ่งนักว่า เมื่อก่อนพวกเรา
ได้ฟังมาว่า เจ้าถูกเขาโยนลงไปในมหาสมุทรตายแล้ว เจ้านั้นคือ
หญิงนี้แหละ พวกเราเห็นแล้วหนอ มาโดยสวัสดี แล้วมาประชุมกัน
ถามถึงประวัติของนาง. จำเดิมแต่นั้น นางก็ได้เล่าเรื่องทั้งหมด
ที่ตนเห็นและที่ตนเสวยมา แก่พวกญาติและมิตรเป็นต้นนั้น พ่อค้า
ชาวกรุงสาวัตถีเหล่านั้น เข้าไปเฝ้าพระศาสดาในเวลาที่ได้ถึง
กรุงสาวัตถี โดยลำดับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ส่วนข้างหนึ่ง

กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า. พระผู้มีพระภาคเจ้า
ทรงกระทำเรื่องนั้นให้เป็นอัตถุปปัตติเหตุ จึงแสดงธรรมแก่บริษัท 4
มหาชน ได้ฟังธรรมนั้นแล้ว เกิดความสังเวช ได้ยินดีในกุศลธรรม
มีทานเป็นต้น ฉะนี้แล.
จบ อรรถกถาปาฏลีปุตตเปตวัตถุที่ 11

12. อัมพวนเปตวัตถุ



ว่าด้วยเปรตฝากทรัพย์ไปให้ลูกใช้หนี้



พวกพ่อค้าได้ถามเวมานิกเปรตตนหนึ่งว่า :-
[132] สระโบกขรณีของท่านนี้น่ารื่นรมย์ดี มี
พื้นราบเรียบ มีท่าอันงดงาม มีน้ำมาก ดารดาษ
ไปด้วยปทุมชาติต่าง ๆ มีดอกอันบานดีเกลื่อน-
กล่นด้วยหมู่ภมร ท่านได้สระโบกขรณี อันเป็น
ที่ฟูใจนี้อย่างไร สวนมะม่วงของท่านนี้น่า
รื่นรมย์ดี เผล็ดผลทุกฤดู มีดอกบานเป็นนิตย์
นิรันดร์ เกลื่อนกล่นด้วยหมู่ภมร ท่านได้วิมาน
นี้อย่างไร.

เวมานิกเปรตนั้นตอบว่า :-
สระโบกขรณีมีร่มเงาอันเยือกเย็น น่า
รื่นรมย์ใจ ข้าพเจ้าได้ในที่นี้ เพราะทานที่ธิดา
ของข้าพเจ้าถวายมะม่วงสุก น้ำ ข้าวยาคู แด่
พระผู้มีพระภาคเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย.

เวมานิกเปรตนั้น ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว จึงนำพวกพ่อค้า
ไปดูทรัพย์ 500 กหาปณะ แล้วสั่งว่า พวกท่านจงถือเอาเป็นส่วนตัว
กึ่งหนึ่งจากทรัพย์นี้ แล้วให้ธิดาของเราใช้หนี้ที่เรายืมเขามากึ่งหนึ่ง
เถิด.